วันอาทิตย์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

ความหมายของวรรณกรรม

ความหมายของวรรณกรรม
คำว่า วรรณกรรม เป็นคำใหม่มีใช้ครั้งแรกตามพระราชบัญญติคุ้มครองศิลปะและวรรณกรรมพุทธศักราช 2485 ในเอกสารเรื่องวัฒนธรรมของวรรณกรรมฉบับที่ 6 ของกระทรวงวัฒนธรรมให้ความหมายวรรณกรรมไว้ว่า “วรรณกรรม” คือหนังสือซึ่งมีผู้แต่งขึ้น แบ่งเป็นประเภทใหญ่ ๆ 2 ประเภทคือ ประเภทความเรียงหรือร้อยแก้ว และประเภทคำประพันธ์หรือร้อยกรอง หนังสือที่จัดเป็นวรรณกรรมชั้นดีนั้น คือ หนังสือชั้นดี มีลักษณะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อ่าน และมีแก่นสารที่จะยึดถือเอามาอ้างอิงได้ วรรณกรรมโดยทั่วไปมีคุณค่า ทั้งรูปแบบและเนื้อหา ผู้ที่อ่านวรรณกรรมจึงควรพินิจพิจารณาให้รอบคอบว่า วรรณกรรมเรื่องนั้น ๆ มีคุณค่าดังกล่าวหรือไม่ การอ่านโดยพินิจพิจารณา และใช้สติปัญญาอย่างรอบคอบ รวมทั้งสามารถแสดงเหตุผลประกอบได้อย่างถูกต้อง เรียกว่า เป็นการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ ลักษณะการอ่านอย่างมีวิจารณญาณจะต้องประกอบด้วยการใช้สติปัญญาในการวิเคราะห์ พินิจพิจารณา ไตร่ตรอง ตัดสินใจและประเมินค่าข้อความที่อ่าน เพื่อให้รู้ถึงแก่นของเรื่อง และรู้จักวิเคราะห์ วิจารณ์เรื่องที่อ่าน อันเป็นการก่อให้เกิดความคิดในระดับสูงขึ้น
วรรณกรรมแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. วรรณกรรมร้อยแก้ว หมายถึง หนังสือประเภทความเรียงที่ใช้ถ้อยคำ สละสลวย สำนวน โวหารลึกซึ้งกินใจ เต็มไปด้วยอรรถรส ก่อให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจมีคุณค่าและมีประโยชน์ต่อผู้อ่าน วรรณกรรมประเภทนี้ ได้แก่ เรื่องบันเทิงคดีและสารคดีทั่วไป เช่นนวนิยายเรื่องสั้นบทละคร หนังสือธรรมะ ชีวประวัติ การท่องเที่ยว เป็นต้น
2. วรรณกรรมร้อยกรอง หมายถึง วรรณกรรมที่แต่งเป็นคำประพันธ์ประเภทต่างๆ เช่นแต่งเป็นโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนและร่าย หนังสือที่แต่งเป็นคำประพันธ์เหล่านี้ บางเล่มก็ได้รับยกย่องให้เป็นวรรณคดี วรรณคดีหมายถึงวรรณกรรมที่แต่งดีถึงขนาดเป็นแบบอย่างได้ ภาษาที่ใช้ก็ไพเราะและประณีต ให้คุณค่าและให้ความบันเทิงใจ วรรณกรรมมีหลายรูปแบบ แต่ละแบบมีกลวิธีในการนำเสนอต่างกันออกไป ควรอ่านและพิจารณาองค์ประกอบของวรรณกรรมแต่ละรูปแบบ ดังต่อไปนี้
1. การวางโครงเรื่อง ผู้เรียนต้องดูเกี่ยวกับเหตุการณ์ของเรื่องที่เกิดขึ้น สถานที่หรือพฤติกรรมตังละครที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เกิดขึ้น
2. แนวเรื่องและการดำเนินเรื่อง มีความน่าสนใจมากน้อยเพียงใด
3. ภาษาที่ใช้เหมาะสมกับเรื่องหรือไม่
4. กลวิธีในการเขียน ใช้กลวิธีอย่างไรในการนำเสนอ ตรงไปตรงมา สลับซับซ้อนหรืออ้อมค้อมอย่างไร
ในการอ่านวรรณกรรมแต่ละรูปแบบนั้น ควรมีวิจารณญาณในการอ่าน
การใช้วิจารณญาณในการอ่านวรรณกรรมควรพิจารณาหลายด้าน คือ
1. วิจารณญาณด้านรูปแบบ ให้ผู้อ่านพิจารณาว่าวรรณกรรมนั้นใช้รูปแบบใด รูปแบบในการเขียนอาจเป็นร้อยแก้ว หรือร้อยกรองก็ได้อาจเป็นบทความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ หรือออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงแล้วมีผู้นำมาพิมพ์ก็ได้ อาจเป็นนวนิยายเรื่องสั้น ฯลฯ
2. วิจารณญาณด้านเนื้อเรื่อง แยกเนื้อเรื่องออกเป็นส่วน ๆ ให้เห็นได้ว่า ใครทำอะไรที่ไหน อย่างไร และเมื่อไร
3. วิจารณญาณด้านภาษา ว่ามีวิธีการใช้ภาษาอย่างไร ทั้งด้านสำนวน โวหาร ถ้อยคำด้านความหมาย และความไพเราะของเสียงว่ามีความหมายลึกซึ้ง และเสียงไพเราะอย่างไร รวมทั้งการใช้ภาษาเหมาะสมกับรูปแบบคำประพันธ์หรือไม่
4. วิจารณญาณด้านกลวิธีในการเขียน พิจารณาให้เห็นว่าผู้เขียนใช้กลวิธีอย่างไรในการนำเสนอเรื่องนั้น ๆ